แม้จะอยู่ในช่วงวัยเด็ก แต่การเก็บออมเงิน และรู้จักคุณค่าของเงินที่ได้รับมาไม่ว่าทั้งจากทางครอบครัวโดยตรงหรือจากบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม ยิ่งปลูกฝังให้จำขึ้นใจได้เร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยส่งผลระยะยาว
เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่เริ่มทำงาน มีความต้องการซื้อบ้าน มีความต้องการสร้างครอบครัวที่มั่นคงจะได้ไม่ลำบาก และนึกคิดย้อนกลับมาว่ารู้แบบนี้เก็บออมเงินตั้งแต่เด็กดีกว่า ด้วย 8 วิธีสอนลูกออมเงิน ดังนี้
1. ปลูกฝังตั้งแต่ก้าวแรก
การจะสอนลูกออมเงินและรู้จักค่าของเงิน คุณควรเริ่มสอนทันที ที่ลูกโตพอออกไปซื้อของหรือกดเงินจากเครื่องเอทีเอ็มกับคุณได้ สำหรับเด็กวัย 3-4 ขวบ เอทีเอ็มนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะมาก ก่อนพาลูกไปกดเงิน คุณควรเล่าให้ลูกฟังว่าคุณต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินมาไว้ในบัญชีธนาคาร
และเมื่อไปกดเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม คุณสามารถสอนลูกได้ว่า เงินไม่ได้ออกมาจากช่องจ่ายบนเครื่องเฉย ๆ แต่ออกมาจากบัญชีของคุณ ทำให้คุณมีเงินเหลือในบัญชีน้อยลง ถ้าอยากให้มีเงินกลับขึ้นมาเท่าเดิม คุณก็ต้องทำงานอีก
2. นับเหรียญและธนบัตร
สำหรับเด็กเล็ก เราสอนลูกเรื่องสกุลเงิน และวิธีนับค่าเงินของเหรียญกับธนบัตรได้ ลองเล่นเกมนับเหรียญเรียงเป็นตั้ง ๆ ให้ได้ค่าเงินตามที่กำหนดไว้หรือคุณอาจสอนลูก ให้ค่อย ๆ เก็บออมเงินเพื่อซื้อขนมที่ลูกชอบ ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องค่าเงิน
3. ซื้อไปด้วยเรียนไปด้วย
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกสักหน่อย และเคยไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกับคุณแล้ว บอกให้ลูกเลือกซื้อของใช้ในบ้านสักชิ้น สอนลูกให้รู้จักแยกแยะราคาของสินค้าประเภทเดียวกันว่าชิ้นไหนถูกชิ้นไหนแพง
กำลังซื้อของครอบครัวเป็นหัวข้อสำคัญในบทเรียนนี้ และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นสถานที่ที่เหมาะใช้สอนลูกอย่างยิ่งว่าอะไรคือ “ของจำเป็น” และอะไรคือ “ของฟุ่มเฟือย”
4. เริ่มสอนเรื่องสินเชื่อหรือบัตรเครดิต
ถ้าลูกรบเร้า ให้คุณซื้อของเล่นสักชิ้น อย่าดุว่าหรือซื้อให้ลูกทันที คุณควรต่อรองให้ลูกออมเงินไว้ซื้อเองวันหลัง หากพูดยังไงลูกก็ไม่ฟัง นี่อาจเป็นโอกาสดีที่คุณจะสอนลูก เรื่องสินเชื่อหรือบัตรเครดิตเริ่มจากบอกลูกว่าคุณจะให้ลูกยืมเงินไปซื้อของก่อน
และลูกต้องหาเงินมาคืนให้ได้ภายในระยะเวลา ที่กำหนด ไม่อย่างนั้นลูกต้องจ่ายเงินคุณเพิ่มเป็นค่าดอกเบี้ยตามอัตราที่คุณกำหนด ถ้าคุณปลูกฝังนิสัยนี้ ให้ลูกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ลูกจะเห็นคุณค่าของของแต่ละชิ้นว่าหาซื้อมาได้ด้วย “เงินของตัวเอง”
5. เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรเดบิตให้ลูก
เมื่อลูกโตพอจะมีเงินค่าขนมแล้ว สอนให้ลูกรู้จักพื้นฐานของการทำงานหาเงินและทำบัญชีรายรับรายจ่าย คุณอาจให้ลูกดูสลิปเงินเดือนของคุณและเล่าให้ลูกฟังคร่าว ๆ ว่าคุณใช้เงินกับเก็บออมเงินอย่างไร คุณอาจเปิดบัญชีธนาคารให้ลูกและย้ายเงินรับขวัญหรือเงินที่ลูกได้รับจากญาติ ๆ ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มาไว้ในบัญชีนี้เด็ก ๆ ชอบที่จะได้รู้สึกว่าตัวเองเป็น “ผู้ใหญ่” ธนาคารบางแห่งมีบัตรเดบิตสำหรับเด็กด้วย การให้ลูกได้เป็นเจ้าของบัตรสักใบนับเป็นความคิดที่ดีตราบใดที่คุณหมั่นติดตามการใช้จ่ายของลูก
6. ตั้งงบและติดตามค่าใช้จ่าย
วัยรุ่นและวัยย่างเข้าวัยรุ่น พร้อมจะเรียนรู้เรื่องงบและการตั้งเป้าแล้ว แนะแนวทางให้ลูกหัดตั้งงบ สำหรับค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินค่าเติมมือถือ ค่าดูหนัง ค่ากาแฟ เวลาออกไปเที่ยวกับเพื่อน เด็กยุคปัจจุบันไวเรื่องเทคโนโลยี
บอกให้ลูกใช้แอปพลิเคชันติดตามค่าใช้จ่ายของตัวเองดู ก็เป็นความคิดดี สำหรับลูกวัยรุ่น ถ้าคุณต้องการสอนเรื่องการวางแผนการเงิน ลองแนะนำให้ลูกฝากเงินบางส่วนในบัญชีฝากประจำเพื่อดอกเบี้ยที่สูงกว่า ลูกจะได้เรียนรู้ถึงข้อแตกต่างของการออมเงินแต่ละประเภท
7. หมั่นตรวจสอบค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
ปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชัน ขายของทางสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย และอาจเผลอใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย คุณควรหมั่นตรวจสอบเรื่องนี้ แต่อย่าถึงกับห้ามลูกใช้มือถือ คุณควรสอนลูกให้เขียนรายการของที่อยากได้และให้ศึกษาหลาย ๆ เว็บดูว่าที่ไหนขายของนั้น ๆ ถูกที่สุด
และเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่าง “ของจำเป็น” กับ “ของฟุ่มเฟือย” ที่สำคัญคือลูกต้องใช้เงินให้อยู่ในงบค่าขนมของตัวเองเท่านั้น
8. ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
ข้อสุดท้าย แต่สำคัญที่สุด ของการสอนลูกออมเงินคือ คุณต้องเป็นตัวอย่างให้ลูก อย่าลืมว่าลูกเปรียบเสมือนฟองน้ำที่จะดูดซับนิสัยทุกอย่างของคุณ ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ด้วยการตั้งเป้าหมายทางการเงิน เก็บออมเงินฉุกเฉินและใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด
ถ้าคุณมีความรับผิดชอบ ต่อการใช้เงินของคุณเอง คุณก็จะส่งต่อค่านิยมเดียวกันนี้ให้ลูก และคุณจะมั่นใจได้ว่าลูกสามารถบริหารเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อพ้นอกคุณไป
ขอขอบคุณ d d p r o p e r t y