
1.เป็นที่ปรึกษาที่ดีแก่ลูกน้อง หัวหน้าที่ดี แม้จะกระจายงานให้ลูกน้องทำ แต่ก็ต้องคอยเฝ้าดูและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ เพราะคำว่า ‘หัวหน้า’ ก็เหมือนเป็นเครื่องการันตี
ว่าคุณมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ทำงานมากกว่าคนอื่น ๆ ดังนั้นคุณจึงควรเป็น ‘โค้ช’ ที่ดีให้กับลูกน้อง เพื่อสร้างบุคลากรที่ดีให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น
2.มีทักษะการสื่อสารที่ดี ข้อนี้ถือว่าสำคัญอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ อย่าลืมว่าไม่มีใครชอบคนที่พูดจาไม่ดีกับตน เพราะเหมือนเป็นการไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ดังนั้นคุณจึงควรใช้คำพูดอย่างนอบน้อม เพื่อให้ผู้ฟังเห็นถึงความสำคัญของงานที่คุณมอบหมายให้ และถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับลูกน้องอีกด้วย
3.รักษาคำพูด หลายคน คงเคยได้ยินคำว่า ‘กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ’ ใช่หรือไม่ เพราะการเป็นผู้นำ คุณต้องมีความมั่นคงในคำพูดของตนเอง พูดอะไรแล้วต้องทำให้ได้
ถ้าทำไม่ได้คุณต้องมีเหตุผลที่ดีพอเพื่อให้ลูกน้องยอมรับ ไม่ใช่ว่าดีแต่พูดแต่ไม่เคยทำได้ อันนี้ระวังจะโดนเลื่อยขาเก้าอี้โดยไม่รู้ตัว
4.มีความมุ่งมั่น ข้อนี้ไม่ได้เป็นผลดี กับลูกน้องเท่านั้น แต่จะเป็นผลดีกับอนาคตของคุณเองด้วย เพราะการที่คุณตัดสินใจทำอะไรก็ตามแล้วทำสำเร็จไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
ก็ถือเป็นความสำเร็จทั้งต่อตนเอง และยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกน้องอีกด้วย กลับกันหากคุณเป็นคนขาดความมุ่งมั่น ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มันก็คล้าย ๆ กับสุภาษิตที่ว่า ‘เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ’ นั่นแหละ
5.ให้เครดิตแก่ทีม การทำงานใหญ่ ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้เพียงคนเดียว ดังนั้นในขณะที่คุณได้รับคำสรรเสริญก็อย่าลืมให้เครดิตลูกน้องของคุณด้วยการทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ใครเขามองว่าคุณมีความสามารถน้อยลงไปหรอก
กลับกัน ทุกคนจะมองว่าคุณมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและลูกน้องของคุณ ยังรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ สิ่งนี้จะทำให้พวกเขามีกำลังแรงใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ กับคุณต่อไป
6.ให้ความสนับสนุนลูกน้องอยู่เสมอ ข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ลูกน้องของคุณมีแรงผลักดันในการทำงานมากขึ้น เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากเดินย่ำอยู่กับที่อย่างไม่มีอนาคตที่สำคัญยังถือเป็นเคล็ดลับเล็ก ๆ ที่ทำให้ลูกน้องคนอื่นตั้งใจทำงาน
เพื่อให้คุณเห็นผลงานและหันมาสนับสนุนเขาเช่นกัน เรียกได้ว่า ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว’ เลยก็ว่าได้
7.มีความยุติธรรม พูดง่าย ๆ ว่า ‘ไม่หูเบา’ และ ‘ไม่ลำเอียง’ นั่นเอง การที่คุณจะควบคุมลูกน้อง ได้ต้องยึดข้อนี้เป็นสำคัญ เช่นไม่ว่าคุณจะได้รับข้อมูลอะไรมาก็แล้วแต่ คุณต้องตรวจหาความจริงก่อนที่จะติดสินใจไม่ใช่ว่าลูกน้องคนโปรดของคุณพูดแล้วคุณต้องเชื่อเสมอไป
เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคุณคงต้องทำงาน กับเขาสองคนแล้วแหละ เนื่องจากไม่มีใครอยากทำงานกับหัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรมพอ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ใครว่าคุณได้ว่า ‘มี ส ม อ ง ไว้คั่นหู’ เด็ดขาด
8.วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ แน่นอนว่า งานทุกชิ้นก่อนจะลงมือทำได้นั้น เราต้องมีการวางแผนงานก่อนทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของหัวหน้าดังนั้นก่อนการวางแผนงานแต่ละครั้ง
คุณต้องไปทำการบ้านมาอย่างดีซะก่อน เพราะการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานหลายครั้งไม่ได้เป็นผลดี มิหนำซ้ำลูกน้องจะมองว่าคุณไร้ความสามารถอีกด้วย
9.มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา หลักการแก้ไขปัญหาที่ดีคือ ต้องสามารถแก้ไขได้ในเวลาที่สั้นที่สุด ผลกระทบน้อยที่สุด และไม่มีปัญหาเรื้อรังที่ต้องแก้อีกในอนาคต
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องคำนึงถึงผู้ที่รอรับคำสั่งคุณเป็นสำคัญ หากเป็นไปได้คุณควรอยู่เป็นโค้ชอย่างใกล้ชิดให้กับลูกน้องเพื่อให้ทุกคนอุ่นใจและสัมผัสได้ถึงความเอาใจใส่ของคุณ
10.มีภาวะความเป็นผู้นำ ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะการที่คุณขึ้นมารับตำแหน่ง ‘หัวหน้า’ ก็เหมือนกับคุณแบกภาระหน้าที่ไว้บนบ่า จะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบและต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่าตนเอง
ที่สำคัญการปกครองคนหมู่มาก คุณต้องมีทั้ง ‘พระเดช’ และ ‘พระคุณ’ กล่าวคือ ต้องปฏิบัติตนเพื่อให้ลูกน้องยำเกรง และต้องสร้างความดีเพื่อให้ลูกน้องเคารพ และยอมรับคุณด้วยความเต็มใจ สองสิ่งนี้จึงจะถือว่าคุณมีภาวะความเป็นผู้นำที่มีคุณค่าแก่องค์กร
ขอขอบคุณ s c h o o l o f c h a n g e m a k e r s